สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มฟล. จัดอบรมหลักสูตร QEEG ระดับ Technician รุ่นที่ 1 เสริมศักยภาพการประเมินและฟื้นฟูสมองเด็กพิเศษ
(สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 3: Good Health and Well-being)
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2568 สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดโครงการอบรมหลักสูตร
“การใช้เทคนิค Quantitative Electroencephalogram (QEEG) เทคนิคทางประสาทวิทยาศาสตร์ (Neurosciences) ในการประเมินและฝึกฟื้นฟูศักยภาพทางด้านสมอง สำหรับเด็กพัฒนาการล่าช้า และโรคทางระบบประสาทและจิตเวช ระดับ Technician รุ่นที่ 1”
เพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะของบุคลากรในการนำเทคโนโลยี QEEG ไปใช้ในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการอบรมจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting ระหว่างวันที่ 4, 11, 18, 25 พฤษภาคม และ 1 มิถุนายน 2568 (ทุกวันอาทิตย์ รวมทั้งสิ้น 5 วัน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการใช้เทคนิค QEEG ระดับ Technician รุ่นที่ 1 ในการประเมินและฟื้นฟูศักยภาพสมอง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กพิเศษและผู้มีภาวะพัฒนาการล่าช้า
โครงการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ภัครวรรธน์ สิทธิประภาพร อาจารย์ประจำสำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงลึก พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากกรณีศึกษา และแนวทางการประยุกต์ใช้ในงานจริง
เทคโนโลยี QEEG หรือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเชิงปริมาณ ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสำคัญทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้แพทย์ นักจิตวิทยา และนักฟื้นฟูสมอง สามารถวิเคราะห์และทำแผนที่การทำงานของสมองได้อย่างละเอียด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีภาวะพัฒนาการล่าช้า เด็กออทิสติก สมาธิสั้น หรือผู้ที่มีปัญหาทางระบบประสาทและจิตเวช การนำ QEEG มาใช้จึงช่วยให้สามารถวางแผนการฟื้นฟูได้อย่างตรงจุด ลดความเสี่ยง และเพิ่มประสิทธิภาพของการบำบัดฟื้นฟูอย่างมีนัยสำคัญ
กิจกรรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากบุคลากรในหลากหลายภาคส่วน ทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 15 ท่าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวและความสำคัญของการพัฒนาทักษะด้านประสาทวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โครงการอบรมยังสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) เป้าหมายที่ 3: Good Health and Well-being
ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างหลักประกันให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในทุกช่วงวัย รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพจิต การเข้าถึงการรักษาพยาบาล และการลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม